วิธีป้องกันกลิ่นปาก
(1). ลดอาหารบางชนิด
อาหารบางชนิดอาจทำให้เกิดกลิ่นปาก เช่น หอม กระเทียม ฯลฯ รวมทั้งพืชผักที่มีน้ำมันหอมระเหยอีกหลายชนิด
หอมและกระเทียมอาจทำให้กลิ่นปาก กลิ่นจมูก (ออกมาทางลมหายใจ) หรือกลิ่นตัวแรงหลังกินได้นานถึง 72 ชั่วโมง หรือประมาณ 3 วัน
เพราะฉะนั้นถ้ามีนัดหรือภารกิจครั้งสำคัญ เช่น มีกิจธุระต้องไปขอความเห็นใจจากใคร สมัครงาน ฯลฯ... ควรงดหอมและกระเทียมก่อนปฏิบัติการ 72 ชั่วโมง หรือประมาณ 3 วัน
(2). แปรงฟันแล้วอย่าลืมแปรงลิ้น
การแปรงฟันเบาๆ ด้วยแปรงขนอ่อนให้ถูกวิธีวันละ 2-3 ครั้ง ใช้ยาสีฟันที่มีฟลูออไรด์ แปรงลิ้น (ใช้แปรงสีฟันขนอ่อนแปรงเบาๆ ได้ โดยการวางแปรงขวางแนวลิ้น) มีส่วนช่วยลดแบคทีเรียในช่องปากให้น้อยลงได้
ไม่ควรแปรงฟันหลังกินผลไม้ ดื่มน้ำผลไม้ หรือเครื่องดื่มที่มีกรด เช่น เครื่องดื่มบำรุงกำลัง ฯลฯ 1 ชั่วโมง เนื่องจากฟันคนเราจะอ่อนลงชั่วคราวหลังสัมผัสกรด > การแปรงฟันในช่วงนี้อาจทำให้ฟันสึก ฟันผุ หรือเกิดอาการเสียวฟันได้ง่ายขึ้น
หลังกินผลไม้ ดื่มน้ำผลไม้ หรือเครื่องดื่มที่มีกรด > ควรบ้วนปากหลายๆ ครั้งทันที
ถ้าไม่มีโอกาสบ้วนปากทันที > การดื่มน้ำเปล่าตาม หรือการเคี้ยวหมากฝรั่งชนิดไม่มีน้ำตาลช่วยได้
(3). เปลี่ยนแปรง
ควรใช้แปรงสีฟันขนอ่อน (soft) หรืออ่อนมากเป็นพิเศษ (extrasoft) > สะบัดแปรงแรงๆ หลังทำความสะอาด ตากในที่มีลมโกรก เพื่อให้แปรงสีฟันมีโอกาสแห้ง และลดปริมาณเชื้อโรคที่เกาะอยู่บนผิวแปรง หรือขนแปรงให้น้อยลงได้
การนำแปรงออกไปตากแดดสัปดาห์ละ 1 ครั้ง หรือแช่ในน้ำร้อนจัดมีส่วนช่วยลดปริมาณเชื้อโรคที่เกาะอยู่บนผิวแปรง หรือขนแป่งให้น้อยลงได้
(4). ใช้ไหมขัดฟัน
การแปรงฟันทำความสะอาดผิวฟันได้ประมาณ 60% ของพื้นที่ทั้งหมด การใช้ไหมขัดฟัน (dental floss) วันละ 1 ครั้งมีส่วนช่วยทำความสะอาดฟันส่วนที่เหลือ (ประมาณ 40%) และเนื้อเยื่อรอบโคนฟัน (ปริทนต์)
(5). ตรวจช่องปาก
ควรตรวจสุขภาพช่องปากกับหมอฟัน หรือผู้ช่วยหมอฟันทุกๆ 6 เดือน
(6). ทำความสะอาดฟันปลอม
ถ้าสวมฟันปลอม ควรทำความสะอาดฟันปลอมเป็นประจำตามที่หมอฟันแนะนำ
(7). ดื่มน้ำ
ภาวะขาดน้ำ (dehydration) ทำให้เศษอาหาร เครื่องดื่ม และเศษเซลล์เยื่อบุในช่องปากตกค้างอยู่ในปากได้นานขึ้น ย่อยสลายเป็นกลิ่นปากมากขึ้น
ช่วงเวลาที่คนเรามีกลิ่นปากแรงที่สุดมักจะเป็นช่วงหลังตื่นนอนเช้า วิธีป้องกันคือ ดื่มน้ำให้มากพอทั้งวัน บ้วนปากหลายๆ ครั้งทันทีที่ตื่นนอน และดื่มน้ำ 2-3 แก้วทันทีหลังตื่นนอน
ควรดื่มน้ำให้มากพอทุกวัน โดยสังเกตสีปัสสาวะ ปัสสาวะควรมีสีเหลืองจาง ถ้ามีสีเหลืองเข้มบ่งชี้ว่า น่าจะดื่มน้ำน้อยเกินไป
ถ้าปัสสาวะน้อยกว่า 2 ชั่วโมงต่อครั้งในช่วงกลางวัน บ่งชี้ว่า อาจจะดื่มน้ำน้อยเกินไป
ถ้าปัสสาวะบ่อยเกิน 1 ชั่วโมงต่อครั้ง บ่งชี้ว่า อาจจะดื่มน้ำมากเกินไป
คนที่มีน้ำลายน้อยเรื้อรัง เช่น คนไข้มะเร็งหลังฉายแสงบริเวณช่องปากหรือลำคอ ฯลฯ อาจต้องปรึกษาหมอฟัน เพื่อพิจารณาการใช้น้ำลายเทียมเสริม
(8). งดบุหรี่
บุหรี่ทำให้ปากแห้งง่าย ทำให้กลิ่นปากแรงขึ้น ควรเลิกบุหรี่ หรืออย่างน้อยที่สุดควรลดปริมาณการสูบให้น้อยลง
คนที่สูบบุหรี่มักจะมีกลิ่นปากจากบุหรี่ และอาจมีกลิ่นปากเพิ่มขึ้นจากโรคเหงือกอักเสบ หรือปริทนต์อักเสบ (periodontitis = เนื้อเยื่อรอบโคนฟันอักเสบ) ที่พบได้บ่อยขึ้นในคนที่สูบบุหรี่
(9). ใส่ใจสุขภาพ
โรคเรื้อรังหลายชนิด โดยเฉพาะโรคระบบทางเดินอาหาร หรือทางเดินลมหายใจ เช่น โรคอาหารขย้อน (GERD / เกิร์ด) ไซนัสอักเสบ (โพรงรอบจมูกอักเสบ) หลอดลมอักเสบ ฯลฯ อาจทำให้เกิดกลิ่นออกมาทางปากได้
(10). ไม่ลดความอ้วนเร็วเกิน
คนที่ลดความอ้วนเร็วมากๆ อาจมีกลิ่นคโทนส์ (ketones) คล้ายกลิ่นผลไม้สุกจากการสันดาปไขมันได้ > วิธีที่ปลอดภัยและยั่งยืนกว่า คือ การลดความอ้วนช้าหน่อย ประมาณสัปดาห์ละ 0.5 กิโลกรัม
(11). ระวังภูมิแพ้
โรคภูมิแพ้ โดยเฉพาะจมูกอักเสบ-ไซนัส (โพรงรอบจมูก) อักเสบ (rhinitis-sinusitis) อาจทำให้เกิดกลิ่นออกมากับลมหายใจ และอาจเข้าใจผิด คิดว่า เป็นกลิ่นปากได้
(12). ระวังรักแร้
กลิ่นตัว โดยเฉพาะกลิ่นจากรักแร้ อาจทำให้เกิดกลิ่นออกมา... บางครั้งก็ทำให้เกิดอาการสับสนปนเป เข้าใจว่า เป็นกลิ่นปาก
การอาบน้ำถูสบู่ให้ดีทุกวัน โดยเฉพาะบริเวณข้อพับแขน-รักแร้-ขาหนีบ-เท้า อาจช่วยลดกลิ่นตัวได้
ยาทารักแร้ หรือสารส้มมีส่วนช่วยลดกลิ่นตัวได้
(13). ทำใจ
ถ้าทำทุกวิธีแล้วยังไม่ดีขึ้น... ควรปรึกษาอาจารย์หมอฟัน ตรวจฟันตรวจเหงือกให้ละเอียดถี่ถ้วน เนื่องจากสาเหตุของกลิ่นปากมักจะซ่อนอยู่ตามซอกเหงือก ซอกฟัน เช่น ฟันผุ เหงือกอักเสบ ปริทนต์อักเสบ (เนื้อเยื่อรอบโคนฟันอักเสบ) ฯลฯ
Source : บ้านสุขภาพ
วันศุกร์ที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2556
วิธีป้องกันกลิ่นปาก
07:55
No comments
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น