อาชาบำบัดเพื่อเด็กออทิสติก
“อาชา” หรือ ม้า เป็นสัตว์ที่มีอากัปกิริยาท่วงท่าการเคลื่อนไหวสง่างาม สามารถฝึกให้เชื่องได้ การนำม้ามาใช้บำบัดเด็กพิเศษ กลุ่มที่มีความผิดปกติด้านระบบการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อและข้อต่อ เช่น โรคสมองพิการ และกลุ่มเด็กออทิสติก ที่มีปัญหาด้านการควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกาย และการควบคุมอารมณ์ จึงค่อนข้างมีประสิทธิภาพ อย่างเช่นโครงการที่เกิดขึ้นภายในกองพันลาดตระเวน กองบัญชาการนาวิกโยธิน ซึ่งตั้งอยู่ที่ฐานทัพเรือสัตหีบ อีกบทบาทหนึ่งของกองทัพเรือเพื่อสังคม
เรื่อง/ภาพ : สายสวรรค์ ขยันยิ่ง
ดิฉันเดินทางโดยรถบัสของกองทัพเรือ ถึงกองพันลาดตระเวน กองบัญชาการนาวิกโยธิน ที่ตั้งอยู่ภายในฐานทัพเรือสัตหีบ ช่วงสายๆของวันเสาร์ที่ 26 มีนาคม 2554 โดยความกรุณาของ พล.ร.ท.ทวีวุฒิ พงศ์พิพัฒน์ ผู้ช่วยเสนาธิการทหารเรือ ฝ่ายยุทธการ ซึ่งจัดกิจกรรมขึ้นสำหรับคณะสื่อมวลชน ที่ได้ติดตามท่าน พล.ร.อ.เถกิงศักดิ์ วังแก้ว เสนาธิการทหารเรือ ไปทำข่าวหมู่เรือปราบปรามโจรสลัดที่ดูไบ และบาห์เรน มาเมื่อปลายปีที่แล้ว ครั้นจะนัดเจอกัน สังสรรค์กันอย่างเดียวก็ไม่มีประโยชน์ ท่านเลยจัดโปรแกรมให้เราไปเยี่ยมชมโครงการดีๆ เพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นอีกบทบาทหนึ่งของกองทัพเรือ (ที่แน่ๆ คือท่านก็อยากให้พวกเราทำข่าวมาเผยแพร่ด้วยน่ะแหละ…ฮา!!!)
สนามหญ้าผืนใหญ่ของกองพันลาดตระเวน ถูกล้อมรั้วไม้กั้นบริเวณหนึ่งเอาไว้ มองเห็นเด็กๆกำลังนั่งอยู่บนหลังม้าตัวย่อมๆ อยู่ในบริเวณนั้น โดยมีทหารเดินจูงม้าและประกบเด็กๆ อยู่ทั้งซ้ายและขวาอย่างใกล้ชิด มองไกลๆ แยกไม่ออกหรอกค่ะ ว่าเด็กเหล่านั้นเป็นเด็กพิเศษ
เราได้รับการแนะนำให้รู้จักกับนาวาโทเริงราช อุทธิเสน ผู้บังคับกองพันลาดตระเวน หน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน นายทหารหนุ่มมาดเข้มเล่าที่มาของโครงการอาชาบำบัดให้ฟังว่า เกิดจากแรงบันดาลใจส่วนตัวของเขากับภรรยา นาวาตรีหญิง สุชญา อุทธิเสน ซึ่งเป็นพยาบาล ทั้งคู่มีลูกสาววัย 9 ขวบ ซึ่งเป็นเด็กออทิสติก และก็ประสาคนเป็นพ่อเป็นแม่ ก็พยายามขวนขวายหาวิธีการบำบัดรักษาลูกมาหลายปี รวมทั้งเข้ารับการบำบัดด้วยเครื่อง Hyperbaric Chamber ของโรงพยาบาลอาภากรเกียรติวงศ์ สัตหีบ จ.ชลบุรี (กองทัพเรือจะใช้ห้องปรับความดัน Hyperbaric Chamber สำหรับรักษาทหารเรือ และนักดำน้ำที่เจ็บป่วยจากการเกิดฟองอากาศในร่างกาย มาตั้งแต่ปี 2524 ต่อมาจึงศึกษาประสิทธิภาพของการใช้เครื่องนี้บำบัดเด็กพิเศษ จนกระทั่งเกิดเป็น”โครงการบำบัดเด็กออทิสติกด้วยออกซิเจนความดันสูง”ขึ้น) พวกเขาทราบว่าการนำม้ามาช่วยเสริมการบำบัดเด็กพิเศษเกิดขึ้นแล้วหลายแห่งในประเทศไทย ยกเว้นทางภาคตะวันออก จึงรวบรวมข้อมูลและเสนอโครงการขึ้นภายในหน่วยงาน เริ่มจากในนามชมรมภริยานาวิกโยธิน และได้รับความกรุณาจากผู้หลักผู้ใหญ่ที่เห็นความสำคัญ จนกระทั่งโครงการเป็นรูปเป็นร่างขึ้น และสมาคมภริยาทหารเรือ ก็ร่วมส่งเสริมอย่างเต็มที่ เนื่องจากเป็นโครงการที่สอดคล้องกับโครงการบำบัดเด็กออทิสติกด้วยออกซิเจนความดันสูงนั่นเอง
ปัจจุบันมีผู้ปกครองพาเด็กๆ มาฝึกขี่ม้าแทบทุกวันประมาณ 18 คน อายุตั้งแต่ 2 ขวบไปจนถึง 10 กว่าปี ซึ่งเป็นเด็กที่รักษาอยู่ในโครงการเชมเบอร์ของโรงพยาบาลอาภากรเกียรติวงศ์ สัตหีบ พวกเขาจะใช้เวลาวันละประมาณ 30 นาที ถึง 1 ชั่วโมง มาขี่ม้า ซึ่งในความคิดของเด็กๆ คือการได้มาหาเพื่อน ได้มาเล่นกับเพื่อน ซึ่งเป็นช่วงเวลาแห่งความสุขและรอยยิ้ม
กองพันลาดตระเวนมีม้าอยู่ 3 ตัว ซึ่งต่างก็เป็นขวัญใจเด็กๆ ชื่อเจ้าการ์ตูน คาราบาว และปาน (2 ตัวหลังนี้น่าจะตั้งชื่อตามหนุ่มบาว-สาวปาน เป็นแน่) พวกมันเป็นม้าลูกผสม [pony] ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่ตัวไม่ใหญ่มากจึงเหมาะสำหรับเด็กๆ โดยทั้งม้า และทหารที่เข้ามาร่วมเป็นครูฝึกในโครงการทั้งหมด 10 นาย ต้องผ่านการฝึกอบรมจากผู้เชี่ยวชาญอย่างเข้มข้น โดยไปเข้ารับการอบรมถึงกรมการสัตว์ทหารบก จ.นครปฐม ที่ริเริ่มโครงการอาชาบำบัดขึ้นมาก่อน
ขั้นตอนอาชาบำบัด จะเริ่มตั้งแต่การแนะนำอันตรายที่เกิดจากม้า การสร้างความคุ้นเคยกับม้า เด็กบางคนแค่สัมผัสโดนขนม้าก็ตื่นเต้นตกใจกล้วแล้ว จึงต้องผ่านขั้นตอนนี้ไปให้ได้ก่อนจะถึงขั้นต่อไปคือ ฝึกการคุ้นเคยในการจับจูงม้าและบังคับม้า ก่อนที่จะได้ขึ้นนั่งบนหลังม้า ซึ่งเป็นขั้นตอนสำคัญที่เด็กพิเศษจะต้องเอาชนะความตื่นเต้นให้ได้ เมื่อนั่งบนหลังม้าได้พัฒนาการอื่นๆ ก็จะตามมาให้เห็น พวกเขาจะได้ฝึกบริหารร่างกายบนหลังม้า ฝึกออกคำสั่ง ท่านั่งม้าที่ถูกต้องเมื่อเวลาม้าวิ่ง การเล่นเกมบนหลังม้า และที่น่ารักมากๆ เลยก็คือการฝึกแสดงความรักด้วยการลูบตัวและโน้มตัวลงกอดม้า โดยที่ขั้นตอนทั้งหมดจะอยู่ภายใต้การควบคุมของครูฝึกอย่างใกล้ชิด ครูจะเดินประกบเด็กอยู่ทั้งข้างซ้ายและขวา เมื่อม้าตื่นหรือเสียจังหวะควบคุมนิดเดียว ดิฉันเห็นครูคว้าตัวหนูน้อยคนหนึ่งไปอุ้มเลยค่ะ แต่นาวาโทเริงราชบอกกับพวกเราว่า ปกติครูฝึกจะคอยสังเกตว่าม้าตัวไหนหงุดหงิดอารมณ์ไม่ดี ม้าตัวนั้นจะต้องถูกนำตัวออกไปสงบสติอารมณ์ไกลๆ จะใช้ม้าที่อารมณ์ดีไม่มีปัญหาเท่านั้นมาให้เด็กๆขี่ จึงฝากบอกถึงผู้ปกครองว่ารับรองความปลอดภัยจากอุบัติเหตุในการฝึกค่ะ
เนื่องจากเห็นว่าโครงการนี้ไม่เก็บค่าใช้จ่ายอะไรจากผู้ปกครองที่มาฝึกเลย นักข่าวก็พากันถามถึงงบประมาณต่างๆ ก็ได้รับการชี้แจงให้กระจ่างว่า ค่าอาหารม้าเดือนละ 3-4 พันบาท ก็จัดสรรมาจากเงินสวัสดิการหรือการออกร้านทำ กิจกรรมต่างๆ ของหน่วยนั่นเอง นอกจากนั้นก็ได้รับความอนุเคราะห์จากผู้ใหญ่บ้าง ส่วนจะขยายโครงการ ด้วยการจัดหาม้ามาเพิ่มเพื่อให้รองรับเด็กได้มากขึ้นอย่างไรหรือไม่ก็เป็นเรื่องในอนาคต ดิฉันก็คิดว่า หากภาคเอกชนที่ไหนมีกำลังทรัพย์จะสนับสนุนงบประมาณหรือซื้อม้ามาบริจาคให้ ก็น่าจะทำให้กองพันลาดตระเวนแห่งนี้สามารถช่วยแบ่งเบาภาระผู้ปกครองของเด็กพิเศษที่อยู่ในจังหวัดชลบุรีและพื้นที่ใกล้เคียงได้อีกมากเลยค่ะ
การบำบัดด้วยม้า ไม่ได้ทำให้หายจากการเป็นออทิสติก แต่เป็นการช่วยปรับสภาพร่างกายที่ผิดปกติให้สมดุล ลดความก้าวร้าว และมีความเชื่อมั่นในตนเอง มีพัฒนาการทั้งทางร่างกายและจิตใจดีขึ้น เพื่อให้ใช้ชีวิตอยู่ในสังคมได้ดีขึ้น เนื่องจากเด็กออทิสติกนั้นปกติแล้วจะเรียนรู้เรื่องต่างๆ ได้ค่อนข้างช้า เพราะพวกเขาไม่สามารถควบคุมสภาวะทางอารมณ์ และมีสมาธิจดจ่ออยู่กับเรื่องใดเรื่องหนึ่งได้ ยิ่งถ้าผู้ปกครองไม่เข้าใจ ไม่อดทนพอ ก็จะยิ่งทำให้โอกาสที่เด็กเหล่านี้จะมีพัฒนาการดีขึ้นเป็นเรื่องไกลเกินฝัน นาวาโทเริงราช ฝากแนะนำผู้ปกครองของเด็กออทิสติกว่า ต้องอดทนและให้ความรักความเข้าใจลูกมากๆ และหากต้องการฝึกให้ลูกมีวินัย ชายชาติทหารอย่างเขาบอกว่า “ต้องใช้ความรัก ความนุ่มนวล อย่าใช้ความรุนแรง”ค่ะ
โครงการอาชาบำบัดเพื่อเด็กออทิสติกนี้ไม่เพียงแต่จะสร้างความสุขให้แก่ครอบครัวที่มีบุตรหลานเป็นเด็กออทิสติกเท่านั้น แต่บรรดาทหารนาวิกโยธินที่เป็นครูฝึกในโครงการนี้ยังเกิดความภูมิใจในการปฏิบัติหน้าที่ช่วยเหลือสังคมไม่แพ้การทำหน้าที่ออกไปรบอีกด้วย
กองพันลาดตระเวน หน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน กองทัพเรือ
โทร. 08 6028 8141
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น